สำหรับคุณพ่อคุณแม่ ผู้ปกครอง ที่ได้ตัดสินใจและวางแผนแน่วแน่แล้วว่าจะส่งบุตรหลายเข้าเรียน โรงเรียนนานาชาติ แต่ยังมีข้อมูลของแต่ละระบบการเรียนการสอนในหลักสูตรนานาชาติไม่เพียงพอ วันนี้มีรายละเอียดของแต่ละหลักสูตรในโรงเรียนนานาชาติที่กระทรวงศึกษาธิการได้จำแนกไว้ ซึ่งประกอบไปด้วย 4 หลักสูตร ดังนี้

  1. โรงเรียนนานาชาติ หลักสูตรอเมริกัน

หลักสูตรอเมริกัน จะเน้นการเรียนรู้ผ่านกิจกรรมการเล่นและกิจกรรมนอกห้องเรียน (play-based activities) เช่น การวาดรูป , การทำงานประดิษฐ์ , การฟังนิทาน , การเล่นทราย และการเรียนนอกห้องเรียนในช่วงปฐมวัย พอเริ่มขึ้นสู่ระดับชั้นที่สูงขึ้นก็จะเริ่มเรียนวิชาการควบคู่กับการทำกิจกรรม การเรียนระบบอเมริกันเน้นให้เด็กได้เรียนรู้ความต้องการและความถนัดของตนเองผ่านกิจกรรมมากกว่าการเรียนวิชาการในห้องเรียน

มีการแบ่งระดับชั้นการเรียนเป็น Grade ดังนี้

  • ระดับ Elementary : Grade 1 – 5 ช่วงอายุ 6 – 10 ปี
  • ระดับ Middle School : Grade 6 – 9 ช่วงอายุ 11 – 14 ปี
  • ระดับ High School : Grade 10 – 12 ช่วงอายุ 15 – 18 ปี

หลังจากจบ Grade 12 แล้ว ต้องสอบ SAT/ACT เพื่อใช้เรียนต่อในระบบมหาวิทยาลัย และสามารถเลือกเรียนหลักสูตร AP ในช่วง Grade 12 ซึ่งเป็นโครงการเตรียมความพร้อมในการเข้าศึกษาต่อในระดับมหาวิทยาลัยที่สามารถเทียบโอนหน่วยกิตในระดับชั้นปี 1 ของมหาวิทยาลัยได้

  1. โรงเรียนนานาชาติ หลักสูตรอังกฤษ

หลักสูตรอังกฤษ เน้นการเรียนรู้ด้านวิชาการ ความรู้ด้านภาษา การอ่าน-เขียน ส่งเสริมทักษะด้านสังคม และฝึกฝนมารยาทตั้งแต่ระดับปฐมวัย เนื้อหาวิชาการค่อนข้างหนักหน่วงกว่าหลักสูตรอเมริกัน เน้นการปูพื้นฐานการเขียนอ่านตั้งแต่ในช่วงปฐมวัยเพื่อฝึกฝนให้เด็กมีทักษะใช้ภาษาที่ถูกต้อง การเรียนจะครอบคลุมเนื้อหาตั้งแต่วิชาคณิตศาสตร์ , วิทยาศาสตร์ , ประวัติศาสตร์ , ภูมิศาสตร์ ดนตรี , พละศึกษา , พลเมืองศึกษา , ภาษาต่างประเทศ และวิชาชีพต่าง ๆ

    มีการแบ่งระดับชั้นการเรียนเป็น Year ดังนี้

  • ระดับ Key Stages 1 : Year 1 – 2 ช่วงอายุ 5 – 7 ปี
  • ระดับ Key Stages 2 : Year 3 – 6 ช่วงอายุ 7 – 11 ปี
  • ระดับ Key Stages 3 : Year 7 – 9 ช่วงอายุ 11 – 14 ปี
  • ระดับ Key Stages 4 : Year 10 – 11 ช่วงอายุ 14 – 16 ปี

ในระหว่าง Year 10 – 11 ต้องสอบ IGCSE เพื่อศึกษาต่อในหลักสูตร A – levels 2 ปี คือ Year 12 – 13 ก่อนเข้าศึกษาต่อในมหาวิทยาลัย ซึ่งหลักสูตร A – levels จะเป็นการเลือกวิชาเรียนที่แคบลงเพื่อให้เหมาะสมสอดคล้องกับคณะวิชาที่จะเลือกเรียนในระดับมหาวิทยาลัย

  1. โรงเรียนนานาชาติ หลัก IB

ระบบ IB (International Baccalaureate) เน้นการเรียนรู้แบบบูรณาการ ซึ่งประยุกต์จากหลักสูตรทั่วโลกอย่างเป็นสากลและเป็นหลักสูตรที่เหมาะกับโรงเรียนนานาชาติอย่างแท้จริง เพราะมีระบบการเรียนการสอนที่ไม่มีนโยบายการเมือง เศรษฐกิจ สังคมและวัฒนธรรมจากประเทศต่าง ๆ เข้ามาเกี่ยวข้อง ระบบการเรียนการสอนจะเน้นให้เด็กได้เรียนรู้ผ่านการค้นคว้า หาคำตอบ คิดวิเคราะห์ แยกแยะปัญหาต่าง ๆ ด้วยตนเองผ่านการทำโครงการ CAS (Creativity, Activity, Service), โครงการ EE (Extended Essay) การเขียนเรียงความเชิงวิจัย และกิจกรรมการเรียนรู้ด้านปรัชญา (ToK : Theory of knowledge) ที่ส่งเสริมให้เด็กมีความคิดวิเคราะห์เชิงสร้างสรรค์ ลงมือปฏิบัติ และการทำกิจกรรมเพื่อสังคมหรือจิตอาสา ฝึกให้เด็กเก่งครอบคลุมทั้งด้านวิชาการและกิจกรรมไปพร้อม ๆ กัน ระบบ IB นี้มีความเป็นพหุวัฒนธรรมและความเป็นสากลที่ส่งเสริมการเรียนรู้ความแตกต่างด้านวัฒนาธรรมและหลากหลายด้านภาษา เป็นระบบที่ได้รับการยอมรับจากมหาวิทยาลัยชั้นนำหลายแห่งทั่วโลกในการเข้ารับศึกษาต่อในระดับมหาวิทยาลัย

    มีการแบ่งระดับชั้นเรียน ดังนี้

  • Primary Year Program : PYP ช่วงอายุ 3 – 12 ปี
  • Middle Year Program : MYP ช่วงอายุ 11 – 16 ปี
  • Diploma Program : DP ช่วงอายุ 16 – 19 ปี
  • Career – related Program ช่วงอายุ 16 – 19 ปี

การจบหลักสูตร IB ต้องสอบการทดสอบใน 3 วิชา CAS, ToK และ EE ตามเงื่อนไขที่กำหนด จึงจะได้ IB Certificate เพื่อเข้าศึกษาต่อในมหาวิทยาลัยได้

  1. โรงเรียนนานาชาติ หลักสูตรประเทศอื่น ๆ เช่น เกาหลี แคนดา ฝรั่งเศส ญี่ปุ่น สิงคโปร์ เป็นต้น

หลักสูตรประเทศอื่น ๆ ที่นอกเหนือจาก 3 หลักสูตรข้างต้น มักอิงตามหลักสูตรการเรียนการสอนตามระบบมาตราฐานการศึกษาประจำชาติของตน โดยมากมีการส่งเสริมให้มีการเลือกเรียนภาษาประจำชาติท้องถิ่นของตนเป็นตัวเลือกเสริม การเลือกโรงเรียนนานาชาติของหลักสูตรประเทศต่างๆ นั้น ขอแนะนำให้พ่อแม่ศึกษารายละเอียดระบบการเรียนการสอนที่เป็นเอกลักษณะของแต่ละหลักจาก Open House ของแต่ละโรงเรียน หรือข้อมูลจำเพาะของสถาบันการศึกษานั้น ๆ

ในแต่ละหลักสูตรของโรงเรียนนานาชาติ ตามที่กล่าวมาข้างต้นนั้น มีข้อดีจำเพาะ วัตถุประสงค์การในเรียนการสอน และปรัชญาการสอนที่แตกต่างกัน ในการเลือกหลักสูตรระบบนานาชาติในระดับประถมและมัธยมนั้น แนะนำให้เลือกเรียนในหลักสูตรที่สอดคล้องกับระบบการเรียนและเงื่อนไขการรับนักเรียนเข้าศึกษาในระดับมหาวิทยาลัย เพราะแต่ละมหาวิทยาลัยมีวัตถุประสงค์และเงื่อนไขจำเพาะการพิจารณารับนักเรียนเข้าศึกษาที่แตกต่างกัน